เมื่อเร็ว ๆ นี้ เครือข่ายการวิจัยประชามติแห่งเอเชีย (ANPOR) ร่วมกับ หลักสูตรนิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี สำรวจพฤติกรรม “การเปิดรับข่าวสารและการรู้เท่าทันสื่อ ความรู้ และการปฏิบัติตนในการป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) ของประชาชนไทย” ระหว่างวันที่ 17 – 27 เมษายน 2563 ต่อสถานการณ์การระบาดครั้งนี้ ทั้งหมด 3,277 คน ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 54.7 มีความเชื่อมั่นว่าภายในอีกสามเดือนรัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคได้ และร้อยละ 25.4 เชื่อว่าจะควบคุมได้ดีมากจนเป็นที่น่าพอใจ เพราะประชาชนไทย มีพฤติกรรมป้องกันตนเองจากการติดเชื้อได้ในระดับดีมาก สามารถปรับตัวได้ในระดับดี แม้จะมีความเครียดอยู่บ้าง
แต่ที่น่าห่วงคือ ผลกระทบจากการขยายนโยบาย Lockdown อีก 1 เดือนจะส่งผลต่อความกังวลเรื่องการทำงานและรายได้ในระดับมากคือการตกงานและรายได้ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ดร.ทัศนีย์ เกริกกุลธร ผู้ช่วยอธิการบดี สถาบันบรมราชชนก และ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย สรุป
รศ.ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ประธานเครือข่ายการวิจัยประชามติแห่งเอเชีย (ANPOR) และที่ปรึกษาหลักสูตร ป.เอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงภาพรวมของโครงการว่าการสำรวจครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ 3 สถาบัน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 3,277 คน จากทุกจังหวัด แบ่งตามอายุและช่วงวัย อาชีพและรายได้ของผู้ตอบแบบสอบถาม
ณัฐพล จิตประไพ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาด ซึ่งร่วมทำงานในโครงการกล่าวเสริมว่าผลที่พบในเบื้องต้น สะท้อนให้เห็นมิติทางด้านสังคม การใช้ประโยชน์จากสื่อที่หลากหลาย โดยเฉพาะการเปิดรับข่าวสารจากสื่อสังคม เช่น สภาพ เศรษฐกิจระดับปัจเจก และที่สำคัญคือ สุขภาพจิตความเครียด ความกังวลของประชาชนที่อยู่ในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา 2019 ได้ดี
กลุ่มข้าราชการและผู้ที่ได้รับเงินเดือนประจำ มีความเครียดแต่สามารถปรับตัวได้ร้อยละ 42.3 ในขณะที่กลุ่มรับจ้างและผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำที่มีผลกระทบโดยตรงต่อความเครียด ร้อยละ 57.7 แบ่งออกเป็นกลุ่มที่ตกงานทันทีร้อยละ 18.8 รองลงมารายได้ลดลงร้อยละ 50 คิดเป็นร้อยละ 14.7 และรายได้ลดลงร้อยละ 75 คิดเป็นร้อยละ12.9 และ กลุ่มที่รายได้ลดลงน้อยกว่า ร้อยละ 25 ร้อยละ 11.3 และร้อยละ 45.7 ประชาชนที่ไม่มีความเครียดจากผลกระทบการระบาด สามารถใช้ชีวิตแบบ New Normal และปรับตัวกับการระบาดของโควิด19ในขณะนี้
ความกังวลจากผลกระทบการระบาดต่อการทำงานและอาชีพ พบว่า ร้อยละ 45.7 ประชาชนเชื่อมั่นว่าการทำงานที่บ้าน การเรียนหนังสือออนไลน์ ช่วยแก้ปัญหาการแพร่กระจายของโรคได้ แต่ประชาชนร้อยละ 8.0 กลับมีความเครียดต่อผลกระทบครั้งนี้ที่ส่งผลต่อการทำงานอย่างมาก โดยประชาชนกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 13.0 ซึ่งโดยแบ่งเป็นร้อยละ 6.5 มีความวิตกเพราะที่ทำงานปิดกิจการทันทีและร้อยละ 6.5 เกรงว่าที่ทำงานอาจจะปิดกิจการและเงินเดือนลดลง นอกจากนนี้ประชาชนมีความกังวลต่อทักษะความสามารถการทำงาน พบว่าทักษะความเชี่ยวชาญการทำงานลดลง ร้อยละ 21.7 เนื่องจากห่างหายจากการใช้เครื่องมือ และความสม่ำเสมอในอุปกรณ์
ส่วนผลกระทบต่อความกังวลและความเครียด พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.8 ยังมีความสุข เพราะมีเวลาในการพัฒนาตนเอง และได้ใช้เวลาทำในสิ่งที่ตนเองสนใจ การสำรวจความเครียดของประชาชนทั่วประเทศ พบว่า ร้อยละ 46.2 มีความเครียดกับการแพร่ระบาดแต่สามารถปรับตัวได้ ร้อยละ 14.2 ยังมีความเครียดเพราะกังวลกับผลกระทบที่มีต่อครอบครัว ร้อยละ 13.6 ไม่มีความเครียดการการแพร่ระบาดเลย
จากผลการวิจัยในทางจิตวิทยา พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.2 สามารถจัดการกับความเครียดและปรับตัวกับสถานะการณ์ครั้งนี้ได้ รองลงมาร้อยละ 13.6 ไม่เครียดไม่กังวลใจเพราะมองว่าจะได้มีเวาสงบจิตใจมากขึ้น และร้อยละ 12.4 ยังมีความสุขจากการใช้ชีวิต ประจำวัน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดเพราะสามารถบริหารเวลาที่มีอยู่กับครอบครัว มีเวลาทำในสิ่งที่สนใจมากขึ้น
ในขณะกลุ่มที่มีมุมมองเชิงลบของการ Lockdown พบว่า ร้อยละ14.2 จะมีความเครียด/กังวลใจมากขึ้นเพราะห่วงงานและครอบครัว และ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 3 รู้สึกเครียดระดับใกล้บ้า เพราะไม่ได้พบปะผู้คนหรือสมาชิกที่บ้านวุ่นวายและการทำกิจกรรมซ้ำๆ ทุกวัน
ส่วนรณภพ นพสุวรรรณ นักศึกษา ป. เอก สาขาวิชานิเทศศาสตร์การตลาดอีกคนที่เป็นคณะทำงานของโครงการมีความเห็นว่าหากัฐบาลใช้มาตรการ partial lockdown ผ่อนปรนมาตรการบางประการ น่าจะช่วยให้ประชาชนมีระดับความเครียดน้อยลง โดยเฉพาะเรื่องของการตกงานและรายได้ แต่อย่างไรก็ตามมาตรการผ่อนคลายจากการ Lock Down อาจจะยังไม่ครอบคลุมในอีกหลากหลายอาชีพ ธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อลดความเครียดและสร้างความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นต่อประชาชน เช่น กลุ่มอาชีพ ธุรกิจร้านอาหารและการบริการในห้างสรรพสินค้า กลุ่มงานบริการรับจ้าง เช่น ร้านซ่อมมือถือ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ กลุ่มท่องเที่ยวบริการในประเทศ เช่น สายการบิน โรงแรม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การผ่อนคลายนโยบายเหล่านี้ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรักษามาตรการควบการการแพร่ระบาดให้อยู่ในการควบคุมได้ดีอย่างต่อเนื่องต่อไป